ฐานรากรับเสาในงานออกแบบโรงงาน

ฐานรากรับเสา  ในกรณีที่ปลูกสร้างในที่ดินแข็ง ที่สามารถรับน้ำหนักได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เสาเข็ม ควรออกแบบเป็นฐานรากแผ่ รับโมเมนต์เนื่องจากแรงลมด้วย ในกรณีที่ต้องใช้เสาเข็มควรใช้เสาเข็มคู่ โดยอาจใช้ขนาดเล็กลง แต่เป็นคู่ เพื่อให้สามารถรับโมเมนต์ที่กระทำที่เสาได้ อย่าลืมด้วยว่า ต้องมีเหล็กยึดจากเสาเข็ม

เคยพบ บางรายออกแบบเสา วางอยู่บนฐานรากเดี่ยว เสายึดกับตอม่อ แต่เสาเข็มไม่มีเหล็กมายึดกับตอม่อ ในขณะก่อสร้าง อาจถูกพายุพัดล้มก็ได้ เคยเกิดแล้วที่ซอยกิ่งแก้ว บางพลี

เรื่องการใช้เสาเข็มนี้  เคยพบงานออกแบบโรงงานอลูมิเนียม ที่พื้นรับน้ำหนักประมาณ 5 ตันต่อตารางเมตร ดินเป็นดินลูกรัง รับน้ำหนักได้กว่า 20 ตัน ต่อตารางเมตร แต่วิศวกรออกแบบให้ใช้เข็มตอกปูพรมทั้งโรงงาน เห็นงานเช่นนี้แล้วรู้สึกเศร้าใจ และเห็นใจเจ้าของงาน ทำไมไม่พิจารณาเลยว่ามีความจำเป็นอย่างไร ที่ต้องใช้เสาเข็มตอกปูพรม ถ้าพื้นทรุดจะมีปัญหาอะไร ในเมื่อพื้นใช้เป็นที่กองเศษอลูมิเนียม พื้นทรุดก็ไม่มีผลต่อผลิตภัณฑ์ ไม่เหมือนแท่นพิมพ์ หรือโรงงานผลิตกระดาษ ซึ่งการทรุดของพื้นจะมีผลต่อความหนาของผลิตภัณฑ์

งานพื้นโรงงาน การใช้คานและพื้นสำเร็จราคาจะถูกกว่าพื้น Flat slab ที่่พบข้อบกพร่องบ่อยๆคือ ไม่ได้คิดถึงว่า พื้นตรงคาน จะเกิด moment ลบ และมักจะแตกเป็นรอยยาวตามคาน เนื่องจากเหล็กตะแกรงมีไม่พอที่จะรับโมเมนต์ลบที่เกิด

โรงงานที่มีสำนักงาน ผู้ออกแบบใช้พื้นสำเร็จเป็นพื้นสำนักงาน และมักจะออกแบบพื้นดาดฟ้าโดยใช้พื้นสำเร็จด้วย สิ่งที่ต้องระวังคือ จะเกิดรอยแตกและรั่วตลอดแก้ไม่หาย  สำหรับพื้นดาดฟ้าที่ใช้พื้นสำเร็จ จึงจำเป็นต้องมีกันซึมแบบปูทับด้วย หรือใช้พื้นหล่อกับที่แทน